Background



ข่าวประชาสัมพันธ์
ขยะอันตราย’ ใกล้ตัวและแยกง่ายกว่าที่คิด
27 พฤษภาคม 2564

166


ขยะอันตราย’ ใกล้ตัวและแยกง่ายกว่าที่คิด
.
ในบรรดาขยะทุกประเภท ขยะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ขยะอันตราย’ หรือ ‘ขยะพิษ’ ซึ่งหากไม่ได้รับกำจัดอย่างถูกวิธี และปล่อยให้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เมื่อร่างกายมนุษย์ไปสัมผัสเข้า ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ตั้งแต่หน้ามืด วิงเวียน ผิวหนังอักเสบ ก่อมะเร็ง ไปจนถึงเสียชีวิตเลยทีเดียว
.
แม้ชื่อเรียกจะฟังดูน่ากลัว แต่เอาเข้าจริงคนเราไม่กลัว ‘ขยะอันตราย’ เท่าที่ควร เพราะทุกวันนี้ยังมีการทิ้ง ‘ขยะอันตราย’ ปะปนกับ ‘ขยะมูลฝอย’ ทำให้ยากต่อการกำจัด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายคนยังไม่รู้ว่า ‘ขยะอันตราย’ นั้นหมายรวมถึงขยะแบบไหนบ้าง
.
‘ขยะอันตราย’ ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนวัตถุหรือสารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ เช่น กระป๋องสเปรย์​ ขวดน้ำมันเครื่อง ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ขวดน้ำยาทาเล็บ ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพแล้ว เช่น แบตเตอรี่หมดอายุ มือถือเครื่องเก่า หลอดไฟขาด ฯลฯ โดย ‘ขยะอันตราย’ นั้นมีที่มาทั้งจากในบ้านเรือนทั่วไป อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล และสถานประกอบการหรือแหล่งค้าขายต่างๆ
.
เห็นไหมว่าขยะอันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่ในขณะเดียวกัน ขยะอันตรายก็แยกง่ายกว่าที่คิด เพียงทำตามขั้นตอนดังนี้
.
1. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายให้หมดก่อนทิ้ง
2. แยกประเภทขยะอันตราย เช่น หลอดไฟอยู่กับหลอดไฟ ถ่ายไฟฉายอยู่กับถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์อยู่กับกระป๋องสเปรย์
3. ใส่ขยะอันตรายไว้ในถุงขยะแยกจากขยะประเภทอื่นๆ และติดป้ายให้เจ้าหน้าที่เห็นชัดเจนว่าเป็นขยะอันตราย
4. ทิ้งถุงที่ใส่ขยะอันตรายลงในถังขยะสีแดงหรือสีส้มเท่านั้น
5. สำหรับผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ ให้ส่งไปยังสถานที่ที่รับซื้อ หรือจุดรับทิ้งขยะอันตราย
.
นอกจากนี้ เรายังลดการสร้างขยะอันตรายได้ด้วยวิธีง่ายๆ
.
1. ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายเท่าที่จำเป็น
2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไร้สารเคมีซึ่งเป็นมิตรและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
.
เพียงเท่านี้ เราก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันตัวเองจากพิษภัยของ ‘ขยะอันตราย’ ได้ง่ายๆ แล้ว
.
#คุณภาพสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพชีวิต
.
.
.
อ้างอิง
คู่มือการคัดแยกขยะอันตรายสำหรับเยาวชน โดย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
http://203.155.220.230/.../acti.../HazadousWaste_spreads.pdf